วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

วัฒนธรรมในการใช้ภาษา

วัฒนธรรมในการใช้ภาษา: การใช้ภาษา สุภาพ-ไม่สุภาพ
โดย.... คุณนิชาพร  ยอดมณี
อาจารย์ประจำสายวิชาภาษา คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)

          “วัฒนธรรม” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเรานับแต่เกิดจนตาย พระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญ
ของไทย ได้กล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรม” คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงปรับปรุงหรือผลิตขึ้น สร้างขึ้นเพื่อความเจริญงอกงามในวิถีของส่วนรวม
ถ่ายทอดกันไว้ เอาอย่างกันไว้ รวมทั้งผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบต่อเป็นประเพณีกันมา ตลอดจนความรู้สึก
ความคิดเห็น และกิริยาอาการ หรือการกระทำใดๆ ของมนุษย์ในส่วนรวมลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน และสำแดงออกมาได้ปรากฏเป็นศิลปะ
ความเชื่อ ระเบียบประเพณี ทั้งนี้รวมถึง “ภาษา” ด้วย


ภาพจาก Web Site
http://www.gotoknow.org/blog/kataynoi00/228365
ณ วันที่ 16-9-54
วัฒนธรรมกับภาษา
          เราอาจมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “วัฒนธรรม” กับ “ภาษา” ได้หลายลักษณะด้วยกัน อาจมองในลักษณะ “การใช้ภาษาอย่างมี
วัฒนธรรม” หรือ “วัฒนธรรมที่แสดงออกในภาษา” ก็ได้ ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและภาษา เช่น คนจีนเมื่อเวลาพบกันจะ
ถามว่า “เจี๊ยะ ฮ้อ บ่วย” แปลว่า ทานข้าวหรือยัง คือทักกันด้วยเรื่องกิน เพราะเมืองจีนคนมากอาหารการกินอัตคัด เรื่องที่ห่วงใยกันหรือ
ที่ต้องคิดถึงก่อนก็คือเรื่องการกิน หรือเจ้าของบ้านญี่ปุ่น มักจะคะยั้นคะยอให้แขกรับประทานอาหาร เพื่อแสดงความตั้งใจจะเลี้ยงจริงๆ
และแสดงความเต็มใจต้อนรับ ในขณะที่คนอเมริกันกลับเฉยๆ กับเรื่องการคะยั้นคะยอดังกล่าว ทำให้ดูเหมือนว่าคนอเมริกันไม่ได้ห่วงใย
หรือตั้งใจเชิญให้แขกรับประทานอาหารจริง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่สามารถมองเห็นได้จากการใช้ภาษา และเป็นวัฒนธรรม
ของแต่ละชาติ ที่ทำให้คนชาตินั้นๆ พูดประโยคอะไรหรือไม่พูดประโยคอะไร ซึ่งแต่ละชาติก็มักจะมีความแตกต่างกันไป

การใช้ภาษาสุภาพ-ไม่สุภาพ
          ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่แสดงออกในภาษาหลายประการ ในที่นี้จะกล่าวถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับ คำสุภาพ ไม่สุภาพ ซึ่งปรากฏชัด
ในการใช้คำราชาศัพท์ ซึ่งมีข้อกำหนดที่เป็นระเบียบแบบแผน เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาสุภาพที่ชัดเจน นอกจากนั้นคนไทยยังกำหนดราย
ละเอียดว่าเรื่องใด ถ้อยคำใดที่ควรพูดหรือไม่ควรพูด หยาบคายหรือสุภาพ เป็นคำพูดอย่างขี้ข้าหรืออย่างผู้ดีอีกด้วย ซึ่งการใช้คำพูดอย่าง
ขี้ข้าหรือผู้ดีในที่นี้ ไม่ได้เป็นการวัดกันด้วยฐานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่วัดกันด้วยวัฒนธรรม วัดกันด้วยความรู้มากกว่า
ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด อะไรเสียหาย อะไรไม่เสียหาย
          ในปัจจุบันคนไทยจะคำนึงถึงการใช้ภาษาสุภาพ ไม่สุภาพน้อยลง ทั้งนี้อาจเกิดจากความไม่สนใจ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับ
วัฒนธรรมในการใช้ภาษาไทยมากนัก อีกทั้งอาจเกิดจากสภาพสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบันมีส่วนทำให้คนในสังคมสนใจแต่เฉพาะสารที่ต้อง
การสื่อเท่านั้น เพราะต้องการความรวดเร็วในการสื่อสาร วัฒนธรรมในการใช้ภาษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาสุภาพ ไม่สุภาพ จึงถูกละเลยไป
ทั้งนี้หากการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพนั้น เกิดจากความไม่รู้หรือความสับสน เพราะไม่เคยใช้หรือไม่มีโอกาสใช้ภาษาดังกล่าว ผู้ใช้ก็สามารถ
เรียนรู้การใช้ภาษาอย่างสุภาพต่อไปได้ แต่การใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ที่เกิดจากเจตนาของผู้ใช้ตั้งใจใช้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องนั้น เป็น
สิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขและควรปรับปรุงเป็นอย่างยิ่ง และผู้ใช้ก็ควรจะปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำความเข้าใจภาษาให้ถูกต้องต่อไปด้วย
ทั้งนี้จะเป็นการช่วยธำรงภาษาไทยอันดีงามไว้ได้ทางหนึ่ง

ตัวอย่างการใช้ภาษาสุภาพ-ไม่สุภาพ
          การใช้ภาษาที่ไม่สุภาพนั้น เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “มลพิษทางภาษา” เป็นมลพิษอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยตรง
แต่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยอยู่ทุกวันนี้ มลพิษทางภาษานี้ปรากฏอยู่ทั่วไปตามที่สาธารณะ เช่น คำด่า คำหยาบ คำท้าทายที่
บรรดามือที่ชั่วช้าของสถาบันการศึกษาต่างๆ เขียนตามที่สาธารณะบ้าง รั้วบ้าน ประตูบ้านของผู้อื่นบ้าง เป็นทั้งการประจานตัวเองและทำ
ให้บ้านเมืองสกปรกทั่วไปหมด นอกจากนี้ยังทำร้ายจิตวิญญาณของลูกหลานไทยอีกด้วย มลพิษทางภาษามีมากมาย สามารถแบ่งได้เป็น
ประเภทต่างๆ ตามแหล่งที่พบการใช้ภาษาไม่สุภาพ ดังนี้
          ๑. สถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างจารึกของบรรดานักเรียนนักศึกษาที่จารึกไว้ตามรั้วบ้าน และสถานที่ราชการ ตลอดจนตู้โทรศัพท์
สาธารณะและที่อื่นๆ อันพอจะขีดเขียนหรือพ่นเป็นตัวหนังสือได้ โดยส่วนมากผู้ใช้ภาษามักกล่าวว่า โรงเรียนนี้เป็นพ่อโรงเรียนนั้น โรงเรียน
โน้นเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลานที่คนไทยรังเกียจ เป็นต้น นอกจากนี้ตามท้องถนนยังพบวรรณกรรมประเภทหนึ่ง เรียกว่า “วรรณกรรมรถ
บรรทุก” คือ ถ้อยคำที่เขียนไว้ตามส่วนต่างๆ ของรถบรรทุก ซึ่งมีทั้งการใช้ภาษาที่ดี อย่างคติต่างๆ เช่น “สุขใจแต่ไร้เกียรติ” “ขับช้าถึงที่
หมาย ขับไวถึงป่าช้า” “เงินจางนางจร” เป็นต้น และก็มีข้อความเป็นจำนวนมากเช่นกันที่เป็นการใช้ภาษาไม่สุภาพ เช่น การใช้คำแสดง
อารมณ์ฉุนเฉียว เช่น “ตามล่าอีตอแหล” “แซงไม่ว่า ปาดหน้าโดนเหยียบ” หรือการใช้คำลามกต่างๆ อย่างเบาที่สุด เช่น “อย่าจูบตูดหนู”
เป็นต้น คำหยาบคำลามกดังกล่าวไม่ใช่แต่ถูกปล่อยปละละเลยให้เขียนขึ้นเท่านั้น ยังปล่อยให้เผยแพร่ตามเส้นทางที่รถวิ่งทั่วทั้งประเทศ
ไทยอีกด้วย นับเป็นระบบการสอนทางไกลแบบหนึ่งก็ว่าได้ นอกจากนี้ตามโรงภาพยนตร์ชั้นสอง ก็มักจะได้เห็นชื่อภาพยนตร์หรือคำโฆษณา
ที่อาจทำให้วัยรุ่นเสียคนได้ เช่น “ระเริงเรียน ระเริงรัก ฉายวันนี้ ควบกับ ไฟสวาทสาวใหญ่” “ทีเด็ดรสสวาท” เป็นต้น
          ๒. หนังสือการ์ตูน หนังสือการ์ตูนเป็นแหล่งที่เด็กและวัยรุ่นรู้จักเป็นอย่างดี หนังสือเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่มีทั้งภาพและคำบรรยาย
ที่ลามกอนาจารเต็มขั้น ผู้ปกครองบางคนอาจคิดว่าเป็นเด็กเพียงแต่อ่านการ์ตูน แต่ไม่อาจรู้เลยว่าการ์ตูนหลายเรื่องที่ลูกติดนั้นเต็มไปด้วย
คำด่า คำบรรยายเรื่องเพศอย่างหยาบๆ จนเด็กเหล่านั้นนำมาเลียนแบบพูดคำหยาบ พูดคำลามกตามกันที่โรงเรียน และเลยมาพูดที่บ้าน
ด้วย นอกจากนี้ยังมีหนังสือประเภททะลึ่งทะเล้นที่วางขายอยู่บนแผงหนังสือทั่วไปเช่นกันที่ทำให้เยาวชนนำภาษาไม่สุภาพเหล่านี้ไปใช้ เช่น
“คุณตะกวนไช กรามใหญ่ จะเดินทางไปตีหม้อที่โรงแรม ๘๐๐ เย็นนี้... หายแล้ว คุณนายชูวับ ขยับรู หลังจากที่นอนป่วยมานาน...” เป็นต้น
หนังสือเหล่านี้จะเป็นตัวสอนและแพร่คำพูดที่ไม่ดีให้แก่เด็กๆ ได้ เมื่อเด็กได้พูดกันจนชินปาก ฟังกันจนชินหูแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่าเสียหาย บ้าน
เมืองหรือโรงเรียนจะอบรมอย่างไรก็จะไม่ได้ผล


ภาพจาก Web Site
http://www.jokergameth.com/board/showthread.php?t=153182
ณ วันที่ 17-9-54
          ๓. โทรทัศน์ โทรทัศน์เป็นแหล่งมลพิษทางภาษาอีกแหล่งหนึ่ง เมื่อก่อนมักพบอยู่ในโฆษณา เช่น โฆษณาน้ำยาเติมหม้อน้ำรถยนต์
ว่า “ใช้แล้วหม้อน้ำของหนูเย้นเย็น” โฆษณาขายตู้เย็นที่แถมผ้าขนหนู มีผู้หญิงนุ่งผ้าขนหนูออกมาโฆษณาว่า “หนูแถมหมดเนื้อหมดตัว
เลยค่ะ” เป็นต้น ถ้านักโฆษณายังไม่เลิกโฆษณาแบบมีพิษเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่จะต้องมีผู้ควบคุมอย่างเข้มงวดด้วย นอกจากนี้ละครโทรทัศน์
เรื่องที่มีการกล่าวคำหยาบคายหรือที่เรียกกันว่า “ด่าแหลก” นั้น ก็เป็นแหล่งมลพิษทางภาษาอีกแหล่งหนึ่ง ที่เป็นแหล่งเผยแพร่ภาษาไม่
สุภาพได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเช่นกัน แม้แต่รายการโทรทัศน์ก็เกิดมลพิษทางภาษาขึ้นได้ มักเป็นการใช้คำผิดซึ่งส่วนหนึ่งเกิด
จากการใช้คำจนติดหรือเพื่อสร้างความเร้าใจ หรือความแปลกใหม่ เช่น ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งผู้ดำเนินรายการต้องการให้
อาจารย์มหาวิทยาลัย ๔ คน ตอบปัญหาเดียวกัน ผู้ดำเนินรายการได้ใช้คำพูดว่า “ต่อไปนี้ผมจะต้องข่มขืนอาจารย์ทั้ง ๔ ท่าน ให้ตอบปัญหา
ข้อนี้ให้ได้” การใช้คำ “ข่มขืน” หรือแม้แต่คำว่า “บังคับ” ถือเป็นการใช้คำที่ผิดมารยาทอย่างมาก ฟังแล้วเหมือนจะมีการข่มขืนกันจริงๆ
การลดมลพิษทางภาษาลักษณะเช่นนี้ นอกจากผู้ดำเนินรายการจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไขการใช้ภาษาของตนแล้ว ผู้ปกครองที่ดูรายการ
อยู่ก็ควรแนะนำการใช้ภาษาดังกล่าวให้แก่เด็กๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย
          ๔. หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ การพาดหัวข่าวนั้นมีข้อจำกัดเรื่องเนื้อที่ และการที่ต้องสร้างความน่าสนใจแก่
ผู้อ่านก็จริง เช่น มีการตัดคำ มีการใช้ภาษาสแลง เช่น “ฝ่ายค้านอัดรัฐบาลยับ” “ชวนโยนระเบิดบรรหาร” “ดันสุชาติ...” เป็นต้น แต่มัก
ปรากฏการใช้คำพูดโกหกและคำหยาบ ซึ่งเป็นการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ขัดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์และทำลายศักดิ์ศรีของ
หนังสือพิมพ์อยู่ด้วยเสมอ เช่น เพียงแต่พบรอยเสือใกล้หมู่บ้านก็พาดหัวว่า “เสือโคร่งบุกหมู่บ้าน” หรือมีการใช้คำหยาบ เช่นพาดหัวข่าว
เกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลโลกว่า “หมูเตะสก็อตกระโปรงแหก” ข่าวการเมือง เช่น “ถีบหัวปชป. ไล่ออกจากรัฐบาล” เป็นต้น การใช้คำว่า
“แหก” และ “ถีบ” ในบริบทดังกล่าวแม้จะเป็นการใช้คำที่สร้างความสนใจ แปลก และทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้แต่ก็ถือว่าเป็นการใช้
คำไม่สุภาพ จากลักษณะการใช้ภาษาเช่นนี้จึงน่าจะเป็นตัวอย่างในการพิจารณาเพื่อตั้งข้อสังเกตได้ว่า ภาษาสื่อมวลชนนั้น เราจะยอมรับให้
แปลก หรือให้อารมณ์อย่างไม่มีขีดจำกัดโดยถือว่าเป็นความสร้างสรรค์ดีหรือไม่ หรือน่าจะมีกฎเกณฑ์กันบ้างว่าอย่างไรสร้างสรรค์ อย่างไร
ไม่สร้างสรรค์
          ๕. การพูดจาในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับการกล่าวชม ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีคำใช้เป็นจำนวนมาก เมื่อเราต้องการกล่าวชื่นชม
ใครเราก็มักจะสรรหาถ้อยคำที่มีความหมายไปในทางบวก ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ดีที่คิดว่าจะทำให้ผู้ฟังพอใจได้ แต่ในบางครั้งกลับพบว่าถ้อยคำ
ดังกล่าวก็อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่พอใจได้เช่นกัน หากเป็นการใช้ที่ไม่ถูกกาลเทศะไม่ถูกบุคคลหรือสถานที่ นับเป็นการใช้ภาษาไม่สุภาพ
ประการหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่คราวพ่อชมเด็กสาวคราวลูกว่า สวย ขาว เนียน แม้คำดังกล่าวจะเป็นคำที่มีความหมายไปในทางที่ดีก็ตาม
แต่นับว่าการใช้ภาษาในสถานการณ์เช่นนี้เป็นการใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะการพูดจาเรื่องเกี่ยวกับร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ ของผู้หญิงไทย
นั้นถือเป็นการละลาบละล้วง จากคำชมว่า สวย ขาว เนียน จึงอาจถูกผู้ฟังตีความเอาว่าเป็นการจ้องมองสำรวจดูผิวพรรณ ซึ่งย่อมจะแฝง
ความปรารถนาทางเพศไว้ด้วย ผู้ฟังอาจไม่พอใจได้ และยิ่งเป็นคำพูดของผู้ใหญ่ด้วยแล้วก็อาจจะทำให้ผู้ฟังดูหมิ่นผู้พูด ผู้ใหญ่คนนั้นอาจ
“ถูกเด็กถอนหงอก” ได้ จะเห็นได้ว่าคำพูดที่เราพูดกันนั้นมักจะแฝงวัฒนธรรมของชาติไว้ ความหมายของคำถ้าเปิดตามพจนานุกรมอาจ
จะมีไม่มากนัก แต่เมื่อคำนึงถึงนัยของวัฒนธรรมแล้ว จะพบความหมายลึกซึ้งที่ซ่อนเร้นอยู่อีกมากมาย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในการใช้ภาษาบางประการ
          ๑. ธรรมเนียมไทยถือว่าผู้ใหญ่ล้อเล่นหรือให้ความสนิทสนมกับเด็กนับเป็นการให้ความเมตตา ถ้าเด็กถือเอาความเมตตานั้นเป็น
โอกาสให้พูดล้อผู้ใหญ่เล่น แม้จะด้วยความรัก ท่านก็ถือว่าไม่งาม เป็นเรื่องเสียมารยาท เด็กสมัยใหม่มักจะขาดมารยาทข้อนี้ มักไม่รู้จัก
ความพอดี ทำให้พูดล่วงเกินผู้ใหญ่ หรือพูดจาตีเสมอผู้ใหญ่ แม้จะเป็นการพูดโดยไม่ได้มีเจตนาร้ายก็ตาม
          ๒. ธรรมเนียมไทยนั้น ผู้ใหญ่ที่ดีท่านย่อมรู้ตัวว่าท่านทำอะไรดีหรือไม่ ท่านแก้ไขตัวเองได้ ไม่ใช่หน้าที่ผู้น้อยที่จะตำหนิ ยิ่งเป็น
ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองถ้าท่านทำอะไรผิด ผลงานจะเป็นตัวตำหนิท่านเอง
          ๓. วัฒนธรรมไทยนั้นถือว่าสิ่งที่ไม่งาม สิ่งที่น่ารังเกียจไม่ควรนำมาแสดง การนำสิ่งที่ไม่ดีของผู้อื่นออกมาแสดงนั้น ถือเป็นการ
ประจานผู้อื่น เป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างยิ่ง
          ๔. การคำนึงถึงการใช้ภาษาให้สุภาพนั้น บางครั้งทำให้เกิดความฟุ่มเฟือยขึ้น มักเป็นการใช้คำมากแต่กินความน้อย ทั้งนี้เพราะ
ความพยายามสุภาพ และแสดงความเกรงใจจนทำให้ลืมเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารไป เช่นตัวอย่างการเขียนข้อความบอกอาจารย์ของ
นักศึกษาที่กล่าวว่า “ดิฉันมากราบรบกวนอาจารย์ จะรบกวนถามเรื่อง... ถ้าจะมากราบเรียนอีก อาจารย์จะสะดวกวันไหน โปรดกรุณาเขียน
วันที่ให้ทราบด้วย ขอบพระคุณค่ะ” เป็นต้น ในการเขียนนั้นควรเขียนให้กระชับ ตรงไปตรงมาไม่เยิ่นเย้อ และได้สาระสำคัญ ทั้งไม่ควรใช้
ภาษาที่ผิดธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมไทยด้วย


ภาพจาก Web Site
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=151070
ณ วันที่ 16-9-54
          ภาษาจึงไม่ใช่แค่เพียงสื่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงสารหรือข้อมูลไปยังผู้รับสารเท่านั้น ภาษายังสะท้อนวัฒนธรรมของผู้ส่งสารออกมาด้วย
แม้สารจะถูกต้องชัดเจนแต่หากขาดความสุภาพความเหมาะสมต่อสถานการณ์ บุคคล หรือเวลาแล้ว การสื่อสารนั้นก็สัมฤทธิ์ผลได้ยาก
ดังนั้นลองนึกทบทวนสักนิดว่าเราได้ใช้ภาษาสุภาพหรือยัง หากยังควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำความเข้าใจภาษาให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้น
ท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่เพิ่ม “มลพิษทางภาษา” ให้กับสังคมและลูกหลานไทยก็เป็นได้

          * หมายเหตุ สรุปความและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “ชมอย่างขี้ข้า ด่าอย่างผู้ดี” “ เขาจะข่มขืนกันทางทีวี”
“มลพิษทางภาษา” “ใช้ภาษาอย่าลืมวัฒนธรรมไทย ” จากหนังสือวิพากษ์การใช้ภาษาไทย ของ ศาสตราจารย์ ปรีชา ช้างขวัญยืน และ
บทความเรื่อง “ฟุ่มเฟือยอย่างสุภาพ” จากหนังสือหนังสือชุดความรู้ภาษาไทย อันดับที่ ๑๗ สมพร จารุนัฎ สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ
กระทรวงศึกษาธิการ


        

1 ความคิดเห็น:

  1. Casino Games | DrMCD
    Casino Games · Mega 대전광역 출장안마 Moolah 통영 출장마사지 · Magic 수원 출장마사지 City Slots · Divine Fortune · Black Jack · Caribbean Stud 충청북도 출장샵 · Caribbean Stud.‎How to play online · ‎How to win · ‎Rules 창원 출장샵 · ‎How to win casino games

    ตอบลบ