วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนา




สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรของเมืองสุโขทัยนั้น ต่างพากันนับถือ
ศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนา และนับถือผี โดยเฉพาะ พระขะพุงผี นั้นเป็นผีที่ประชาชนพากันนับถือมาก ดังปรากฏในจารึกหลักที่ ๑ ว่า  “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนั้นมีกุฏิพิหาร ปู่ครูอยู่สรีดภงส์ มีพระขะพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เทียงเมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขา อันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย” ด้วยเหตุนี้ชาวสุโขทัยจึงพากันนับถือพระขะพุงผี เทพยดาในเขา ทำการสักการบูชาไม่ได้ขาด และยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง และศาลพระกาฬให้สักการะนับถืออีก และทำให้มีการนิยมสร้างสถานศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ขึ้นตามเมืองต่างๆ ตามอย่างด้วย 

สำรับการบนบานสานกล่าวขอขมาผีนั้น ชาวสุโขทัยมีความเชื่อเรื่องการเจ็บป่วยที่ถูกผีทำ จึงแก้ด้วยการสร้างตุ๊กตาเสียกบาล โดยนำตุ๊กตาเสียกบาลนั้นมาเชิญผีเข้าแทน แล้วหักคอตุ๊กตาเพื่อแสดงว่าคนป่วยที่ถูกผีเข้านั้นตายแล้ว ผีที่ออกจากร่างผู้ป่วยนั้น เมื่อออกแล้วก็รีบนำตุ๊กตาเสียกบาลนั้นไปวางที่ทางสามแพร่ง เพื่อหลอกไม่ให้ผีหาทางกลับไม่ถูก ซึ่งพบว่ามีการสร้างตุ๊กตาเสียกบาลสังคโลกจำนวนมาก

ชาวสุโขทัยนั้นมีประเพณีที่นิยมนอนหันศรีษะไปทางทิศใต้ ซึ่งเรียกทิศนี้ว่า เบื้องหัวนอนและเรียกทิศเหนือว่า เบื้องตีนนอน อันเป็นความเชื่อของชาวสุโขทัยที่หันศรีษะนอนตามแบบพระพุทธเจ้าที่หันพระเศียรไปทางทิศใต้

ครั้นเมืองพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักร จึงทำให้มีการนับถือพุทธศาสนาอย่างแพร่หลาย ในครั้งนั้น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เมืองสุโขทัยได้เป็นไมตรีกับพระเจ้าอินทรภานุ แห่งนครศิริธรรม (เมืองนครศรีธรรมราช) จึงทำให้มีการส่งทูตลังกา และคณะทูตของเมืองนครสิริธรรม เดินทางไปอัญเชิญพระสีหลปฏิมา คือ พระพุทธสิหิงส์ มาประดิษฐานไว้สักการะที่เมืองสุโขทัย และเมืองนครสิริธรรม

ต่อมาในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์นั้นได้รับความนับถือเลื่อมใสกันอย่างแพร่หลาย จึงมีการนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองนครสิริธรรมขึ้นไปทำการสั่งสอนชาวเมืองสุโขทัย และโปรดให้มีการสร้างวัดและพระอารามต่างๆ ขึ้น พร้อมกับมีการปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา ทำให้พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์มีความเจริญสูงสุดในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย และทำให้พระมหาธรรมราชาลิไทยมีความศรัทธาถึงกับได้ลาผนวช แล้วยังได้พระราชนิพนธ์ไตรภูมิถถาเพื่อใช้สั่งสอนอาณาประชาราษฎรต่อไป

การที่เมืองสุโขทัยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์นั้น ได้ทำให้รูปแบบศิลปกรรมต่างๆ ที่เป็นศิลปะสุโขทัย กล่าวคือ มีรูปแบบของเจดีย์ทรงลังกาที่เรียกว่า พุ่มข้าวบิณฑ์ การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เรียกว่า พระอัฏฐารส และพุทธลักษณะของพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ทำให้ชุมชนต่างๆ นิยมเอารูปแบบศิลปกรรมและรับเอาประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาไปใช้ในท้องถิ่นของตนอย่างแพร่หลาย เช่น ประเพณีทอดกฐิน การเทศน์มหาชาติ ประเพณีการบวช เป็นต้น

การสร้างศาสนาเทวสถานตามความเชื่อนั้น เมื่อพุทธศาสนาได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางไปทั่วอาณาจักร พ่อขุนผู้ครองเมืองนั้นทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และทรงเทศนาสั่งสอนหลักธรรมแก่ข้าราชการไพร่ฟ้าหน้าใสอยู่เนืองนิตย์  จึงทำให้การสร้างวัดในพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยพ่อขุนผู้เป็นกษัตริย์นั้นทรงสถาปนา พระบรมธาตุ พระพุทธบาทและพระอารามหลวงของกษัตริย์ขึ้นในเมืองสุโขทัย เช่น วัดมหาธาตุ วัดสระศรี เป็นต้น เช่นเดียวกัน เชื้อพระวงศ์ เศรษฐี และราษฎร ต่างก็ศรัทธาพากันสร้างวัดขึ้นในเมืองสำคัญ และชุมชนของตน

การปกครองคณะสงฆ์ในเมืองสุโขทัยนั้นได้มี พระเถระผู้ใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ปรากฏชื่อพระสังฆราชมหาคณิศร เป็นอธิบดีสงฆ์ และมีการแบ่งคณะสงฆ์เป็นฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระ ดังนั้นเมื่อบุตรมีอายุสมควรบวช ก็จะพากันบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ชั่วระยะการเข้าพรรษาตามประเพณีนิยม เช่นเดียวกัน พ่อขุนผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาก็จะทรงผนวชเช่นกันในวัดที่เป็นพุทธาวาส (คือไม่มีพระภิกษุจำพรรษา) ที่สร้างประจำพระราชวังสำหรับการพระศาสนาของกษัตริย์เมืองสุโขทัย แต่จำพรรษาอีกวัดหนึ่ง

สำหรับศาสนสถานในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์นั้นได้มีการสร้าง
เทวสถานเป็นองค์พระปรางค์สำหรับประดิษฐานพระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์ทั้งหลาย  รวมเรียกว่า พระไสยศาสตร์  อันได้แก่ เทวรูปของพระปรเมศวร (พระอิศวร) พระพิฆเณศวร พระวิษณุจักร (พระนารายณ์) พระอุมา  พระลักษณ์ พระมเหสวรี พระเทวกรรม พระสัทธาสิทะ พระอีษีสิงค์ พระไพศรพ พระพลเทพ ซึ่งหล่อเป็นเทวรูปโลหะสำหรับสักการะบูชา ในวัดศรีสวาย (ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาแทน)

ในพิธีมงคลทั้งพุทธศาสนา  และศาสนาพราหมณ์ได้มีการผสมผสานใช้ในเมืองสุโขทัย กล่าวคือ มีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตร และเชิญพราหมณ์มาอ่านพระเวทวสักการะพระผู้เป็นเจ้าตามที่มีเทวรูปเคารพ ได้แก่ พระอิษวร (พระศิวะ) พระวิษณุ (พระนารายณ์) พระอุมา (ศักติของพระอิศวร) พระหริหระ (เทวรูปที่รวมพระศิวะกับพระวิษณุไว้ในองค์เดียวกัน) จึงทำให้การทำบุญบำเพ็ญการกุศลที่เป็นมงคลนั้นมีทั้งพิธีพระสงฆ์และพิธีพราหมณ์ผสมผสานกันสืบมาจนทุกวันนี้ฃ

ชาวสุโขทัยมีชีวิตความเป็นอยู่กับ
ความนิยมการกินหมาก เพื่อให้ความฝาดของหมากนั้นช่วยรักษาฟันให้ทนและไม่ผุง่าย  และมีการปลูกป่าหมากในเมืองมากมาย ดังนั้น  ในการทอดกฐิน จึงนิยมที่จะนำหมากถวายด้วย เรียกว่า พนมหมาก เรื่องกินหมากนี้ นิโกลาวส์ แซร์แวส์  ได้กล่าวไว้ในเรื่องประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมือง แห่งราชอาณาจักรสยามเกี่ยวกับค่านิยมการกินหมากของชาวอยุธยาไว้ว่า “สิ่งที่ผู้หญิงสยามไม่อาจทนดูพวกเราได้ ก็คือ ตรงที่พวกเรามีฟันขาว เพราะพวกนางเชื่อว่า พวกภูตผีปีศาจเท่านั้นที่จะมีฟันขาวและเป็นเรื่องที่น่าอับอายที่มนุษย์เรามีฟันขาวเหมือนอย่างสัตว์เดียรัจฉาน ฉะนั้น พอหญิงชายมีอายุได้สัก ๑๔-๑๕ ปี ก็จะเริ่มทำให้ฟันดำและเป็นเงา”  ความเชื่อเช่นนี้ก็น่าจะสืบมาจากความเชื่อที่ชาวสุโขทัยได้มีมาแต่เดิม.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น